• 18 พฤษภาคม 2024
  • Thailand

บิตคอยน์ ขาลง หลังเทสลาประกาศงดซื้อ จีน-อิหร่าน-เกาหลีใต้แบนห้ามใช้ในประเทศ ด้านนักลงทุนเชื่ออาจจะเห็นรีบาวน์อีกครั้ง

บิตคอยน์ ขาลง หลังเทสลาประกาศงดซื้อ จีน-อิหร่าน-เกาหลีใต้แบนห้ามใช้ในประเทศ ด้านนักลงทุนเชื่ออาจจะเห็นรีบาวน์อีกครั้ง

บิตคอยน์ ขาลง หลังเทสลาประกาศงดซื้อ จีน-อิหร่าน-เกาหลีใต้แบนห้ามใช้ในประเทศ
ด้านนักลงทุนเชื่ออาจจะเห็นรีบาวน์อีกครั้ง

บิตคอยน์ เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) โดยผ่านการเข้ารหัส ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งไม่สามารถปลอมแปลงได้ และ สามารถโอนย้ายได้ผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด ( วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564) กว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 12 ปีกว่า และมูลค่าตามราคาตลาดของเหรียญบิตคอยน์ อยู่ที่ 6 แสนล้านเหรียญ และมีราคาต่อ 1 เหรียญกว่า 1 ล้านบาท

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ตลาดคริปโตเริ่มนิ่ง มูลค่าบิตคอยน์เริ่มตีกลับราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,255,480 บาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดิ่งลงถึง 30 %จากมูลค่าสูงสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนมูลค่าคริปโตตัวอื่นยังคงดิ่งลงเป็นส่วนมาก สาเหตุมาจาก 3 สมาคมด้านอุตสาหกรรมการเงินของจีน ได้แก่ สมาคมการเงินอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (National Internet Finance Association of China), สมาคมธนาคารจีน (China Banking Association) และสมาคมด้านการชำระเงินและหักบัญชีจีน (Payment and Clearing Association of China) ออกแถลงการณ์สั่งสถาบันการเงินและแพลตฟอร์มการชำระเงินต่างๆในประเทศจีน ระงับการดำเนินการธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีโดย มองว่าเป็นอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงเตือนถึงนักลงทุนในเรื่องของความเสี่ยงที่มาจากการเก็งกำไรสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่สามารถใช้จ่ายในฐานะสกุลเงินปกติทั่วไปได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลอิหร่าน ได้ออกประกาศห้ามขุดบิตคอยน์ภายในครัวเรือน เพราะจะสร้างภาระให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ และกระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการที่จะกำหนดค่าปรับสำหรับการขุดบิทคอยน์ ส่วนประเทศตุรกีออกกฎหมาย แบนการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ออกกฏหมาย ให้แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนจริง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเปิดบริการที่ประเทศเกาหลีใต้ต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมี อินเดีย และ ซาอุดิอาระเบีย ที่อยู่ในขั้นตอนออกกฎหมาย ซึ่งมาตรการสูงสุดอาจถึงขั้น ห้ามบุคคลในประเทศ ถือ ขุด เทรด หรือทำธุรกรรมกับสินทรัพย์ที่เป็นคริปโทฯ ทั้งหมด และที่เรียกเสียงอือฮามากที่สุดคงเป็นอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา ประกาศว่า ระงับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าด้วยบิทคอยน์ไปก่อน เพราะห่วงว่าการขุดบิทคอยน์ที่ต้องใช้พลังงานสูงจะทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มูลค่าตลาดคริปโตเคอเรนซีหายไปกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

ด้านนักลงทุน ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มองว่า จากสัญญาณทางเทคนิค ราคาบิตคอยน์เริ่มเข้าสู่ขาลงอย่างชัดเจน เพราะราคาไม่สามารถทะลุระดับ 60,000 ดอลลาร์ ไปทำนิวไฮใหม่ที่ 70,000 ดอลลาร์ได้สำเร็จ ทำให้ Sentiment ของตลาดเริ่มเสียไป ให้จับตาดูแนวรับสำคัญบริเวณ 42,000 ดอลลาร์ และ 40,000 ดอลลาร์ให้ดีๆ หากหลุดแนวรับนี้ลงไป มีโอกาสที่ราคาเหรียญจะลงไปแตะระดับต้นๆ 30,000 ดอลลาร์ได้ แต่หากยืนระยะนี้ไว้ได้ เชื่อว่าคงได้เห็นการรีบาวด์กลับขึ้นไปอีกครั้ง เพราะในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นราคาบิตคอยน์เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 45,000-60,000 ดอลลาร์  นอกจากนี้การเข้ามาลงทุนของผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่เป็นสถาบันการเงินและFed ยืนยันว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะเป็นตัวที่ช่วยพยุงตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเอาไว้ได้ สำหรับนักลงทุนที่ยังคงสนใจการลงทุนในตลาดนี้ แนะนำให้ใช้วิธีการ DCA หรือทยอยสะสมและการลงทุนควรต้องเป็นเงินเย็นที่ไม่มีความจำเป็นต้องรีบในการนำมาใช้จ่ายใดๆ

ส่วน ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราคาเหรียญบิตคอยน์ปรับตัวลดลงรุนแรง เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 300 ครั้งแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้หลัง Sentiment ของตลาดเริ่มเสียไป หากดูภาพใหญ่ของการลงทุนในตลาดคริปโตฯ จะเห็นว่ามีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ระยะหลังจะเห็นว่าเงินเริ่มไหลไปสู่ Altcoin (อัลท์คอยน์) หรือเหรียญคริปโตฯ อื่นๆ ที่ไม่ใช่บิตคอยน์มากขึ้น เช่น Ethereum หรือแม้แต่ Dogecoin ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นการโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างบิตคอยน์กับอัลท์คอยน์อยู่เรื่อยๆ