• 15 พฤษภาคม 2024
  • Thailand

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000% นับจากปีพ.ศ. 2531 เมื่อซีบีอาร์อีเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในยุค “เอเชียไทเกอร์” ระหว่างปีพ.ศ. 2531 – 2539 ก่อนที่ตลาดจะหยุดชะงักเพราะวิกฤตการทางการเงินในปีพ.ศ.2540 การเติบโตของราคาที่ดินเริ่มขยับสูงขึ้นในช่วงกลางทศวรรษปี 2540 และราคามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมาสำหรับที่ดินที่อยู่ในย่านใจกลางเมืองที่สำคัญหรือในซีบีดี

ในช่วงปลายทศวรรษปี 2520 ต่อเนื่องเข้าสู่ทศวรรษปี 2530  มีการซื้อขายที่ดินขนาดใหญ่ 2 แปลงด้วยกัน คือ ที่ดินขนาด 8 ไร่บนถนนสาทร โดยผู้พัฒนาเดิมของอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ซื้อไปที่ราคาประมาณ 125,000 บาทต่อตารางวา และที่ดินขนาด 21-1-08 ไร่บนถนนวิทยุซึ่งเป็นบ้านของผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในยุคนั้น ขายให้กับกลุ่มเอ็มไทย มูลค่าที่ดินประมาณ 250,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นโครงการออลซีซั่น เพลส สำหรับการขายที่ดินแปลงล่าสุดในย่านสารทร คือ ที่ดินขนาด 8 ไร่ของสถานทูตออสเตรเลีย ซึ่งขายไปด้วยราคาประมาณ 1.45 ล้านบาทต่อตารางวาในปีพ.ศ. 2560  และในย่านลุมพินี บริษัท เอสซี แอสเสท ซื้อที่ดินขนาด 880 ตารางวาบริเวณถนนหลังสวนด้วยมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา และการซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคือการขายที่ดินสถานทูตอังกฤษขนาด 23 ไร่ในปีพ.ศ. 2561 ให้แก่บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมดและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นยังเป็นไปตามรูปแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ในอดีตศูนย์กลางทางธุรกิจตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงและศูนย์ราชการตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ในช่วงทศวรรษปี 2490 และ 2500 ศูนย์กลางทางธุรกิจได้ย้ายไปที่ถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ เติบโตมากขึ้นในทศวรรษที่ 2510 และ 2520 แต่ยังไม่มีการกำหนดศูนย์กลางของเมืองอย่างชัดเจนและการพัฒนาได้ขยายตัวออกไปเพราะมีการสร้างถนนใหม่ๆแต่ในปัจจุบันปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ประการที่มีผลกับราคาที่ดินคือการเปิดและขยายระบบขนส่งมวลชน โดยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2542 และรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินเข้มเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2547

ระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวได้ทำให้วิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในช่วงปลายทศวรรษ 2560 กรุงเทพฯ จะมีระบบขนส่งมวลชนรวมระยะทางประมาณ 460 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับกรุงลอนดอนที่มีระบบรถไฟใต้ดินรวมระยะทาง 402 กิโลเมตร ความนิยมในระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1.2 ล้านคนต่อวัน ได้ทำให้มูลค่าที่ดินที่อยู่ใกล้กับสถานีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกสายหรือทุกสถานีที่จะได้รับความนิยมอย่างเท่าเทียมกัน  ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าของที่ดินก็มาจากความนิยมของระบบขนส่งมวลชนแต่ละสายและแต่ละสถานี “ปัจจัยสำคัญอีกประการที่เป็นตัวกำหนดราคาที่ดิน ก็คือ ข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองและพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถ้าสามารถสร้างพื้นที่ได้น้อย ราคาที่ดินก็จะไม่ปรับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด” นางกุลวดี สว่างศรี กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน  ซีบีอาร์อี ประเทศไทยกล่าว

หน้า: 1 2