• 19 พฤษภาคม 2024
  • Thailand

สัมมากร นำแนวคิด “Design Thinking” พาองค์กรฝ่าคลื่นดิสรัปชั่น

สัมมากร นำแนวคิด “Design Thinking” พาองค์กรฝ่าคลื่นดิสรัปชั่น

สัมมากร นำแนวคิด “Design Thinking” พาองค์กรฝ่าคลื่นดิสรัปชั่น พร้อมเร่งเครื่องพัฒนาสินค้าใหม่มัดใจลูกค้า เพื่อสร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน


จากความท้าทายต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องเร่งพัฒนาบริษัทให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งสำหรับ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) หรือ SAMCO ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างสรรค์โครงการคุณภาพจากความเข้าใจชีวิตเป็นระยะเวลา 50 ปี ได้เลือกที่จะเริ่มต้นจากการพัฒนา “คน” หรือ “พนักงาน” ให้มีศักยภาพ เพราะมองว่าพนักงานเป็นฟันเฟืองหลักของบริษัท และเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งต่อสินค้าที่ดีสู่ลูกค้า โดยได้นำแนวคิด Design Thinking เข้ามาเทรนนิ่งให้กับพนักงานในทุกระดับขององค์กร เพื่อเติมเต็มเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และเสริมกระบวนการคิดการทำงานให้ดีขึ้น


นายณพน เจนธรรมนุกูล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิด Design Thinking คือ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหรือโซลูชั่นใหม่ๆ ให้เหมาะกับการนำมาใช้สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างรอบด้าน เพราะเป็นการทำความเข้าใจ (Empathy) วิธีคิดและความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ ซึ่งหากมีการปลูกฝังแนวคิดนี้ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ก็จะต่อยอดให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน การดำเนินชีวิต และสามารถพัฒนาสินค้าที่ตรงใจลูกค้าได้ ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใดก็ตาม


“ยกตัวอย่างเรื่องการออกแบบบ้าน สัมมากรอยากพัฒนาโครงการที่ทุกคนหลับสบาย หรือเรียกอีกอย่างว่าบ้านหลับสบาย ซึ่งเป็นบ้านที่ให้ความสุข ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของการอยู่ร่วมกัน อยู่ในชุมชนและสังคมที่ดี เราจึงนำแนวคิด Design Thinking มาใช้ในการออกแบบบ้าน โครงการ และบริการหลังการขาย ด้วยการคิดกันว่าความต้องการและปัญหาของลูกค้าในปัจจุบันคืออะไรบ้าง แล้วเข้าไปพัฒนาให้มันดีขึ้นกว่าเดิม ถือได้ว่าสอดคล้องกับหลักการทำงานของ สัมมากรที่เน้นการออกแบบโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพราะธุรกิจเราเป็นการขายของให้กับผู้ใช้งาน (End User) เราจึงต้องเข้าใจก่อนว่าเขามีไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยอย่างไร ให้ความสำคัญกับอะไร ซึ่งหากทุกคนในบริษัทใช้ Design Thinking ก็สามารถเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างวิกฤตไวรัสโควิด-19 เราก็ยังคงสามารถประคองยอดขายได้ เพราะสินค้าของเราทำมาแล้วตอบโจทย์ลูกค้า”


นายณพน บอกว่า การระบาดของไวรัสในครั้งนี้ส่งผลกระทบกับตลาดโดยรวมอย่างมาก ทำให้แผนการขยายธุรกิจในปีนี้ต้องเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเร่งสร้างการเติบโตให้กับพนักงานและองค์กร ด้วยการให้พนักงานหยิบยกปัญหาจากการทำงานที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ทั้งของแผนกตัวเองหรือแผนกอื่น แล้วมาร่วมแก้ปัญหากัน พร้อมทั้งพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานภายในองค์กรให้เดินหน้าอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ซึ่งการเทรนนิ่งรูปแบบนี้เปรียบเหมือนกระบวนการสร้างให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบริษัทด้วยเช่นกัน เมื่อพวกเขารู้ว่าองค์กรมีปัญหาส่วนไหนก็จะได้ช่วยกันอุดรอยรั่วนั้น